Tuesday, August 28, 2012

อาวุธและเกราะป้องกันสำหรับคนรักสุขภาพ



เจลล้างมือ ชนิดให้ความชุ่มชื้น ฆ่าเชื้อโรคแบบง่ายๆครับ

          ในชีวิตประจำวันคงไม่มีใครหลีกเลี่ยงเชื้อโรคได้ ยิ่งถ้าต้องใช้ชีวิตนอกบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้องนักเรียน นักศึกษา ต้องนั่งรถประจำทางเพื่อออกไปโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องทำงานประจำ ต้องนั่งรถไฟฟ้า หรือรถใต้ดิน ทุกท่านล้วนต้องจับยึดกับราวจับยึด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะผ่านมาแล้วกี่มือ
          ดังนั้น หากเรามีวิธีป้องกันเชื้อโรคง่ายๆ ทำเองได้ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะความจำเป็นไม่เหมือนกัน บางคนต้องสอบ บางคนต้องเตรียมประชุมใหญ่ ฯลฯ
          เจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค คือ อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันเราได้จากเชื้อโรคที่มองไม่เห็น บางท่านอาจหาซื้อขนาดพกพาได้ แต่ถ้าท่านใดสนใจจะลองทำเอง ก็สามารถลองหาซื้ออุปกรณ์ต่างๆได้ตามวิธีการทำด้านล่างนี้เลยครับ 

สิ่งที่ต้องเตรียมในการทำ เจลล้างมือ 
ส่วนประกอบสำคัญ
           1. คาร์โบพอล 940 (Carbopol 940) 1.5 กรัม (สารประกอบให้เกิดเจล)
           2. เอทิล แอลกอฮอล์ 95% (Ethyl alcohol 95%) 370 มิลลิลิตร
           3. ไตรเอทาโนลามีน (Triethanolamine) 1.5 กรัม (สารประกอบให้เกิดเจล)
           4. น้ำเปล่าที่ผ่านกระบวนการ Reverse osmosis 128 มิลลิลิตร
           5. เจอร์มาเบน (Germaben) 5 มิลลิลิตร (สารป้องกันการเกิดเชื้อรา)
           6. โพรไพลีน ไกลคอล (Propylene glycol) 5 มิลลิลิตร (สารให้ความชุ่มชื้น)
           7. สีผสมอาหาร, น้ำหอม หรือน้ำมันหอมระเหย

วิธีการเตรียม
      1. ตวงเอทิล แอลกอฮอล์ 95% ผสมกับน้ำเปล่า (ทำในภาชนะแก้ว, แสตนเลส หรือกระเบื้องเคลือบ)
      2. เติมโพรไพลีน ไกลคอลและเจอร์มาเบน ตามลงไป แล้วคนให้เข้ากัน
      3. ค่อยๆ โปรยคาร์โบพอล 940 ลงไป และกวนให้กระจายตัวในส่วนผสม (อาจใช้แท่งแก้วหรือเครื่องกวนขนม) จากนั้นพักทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้คาร์โบพอลเกิดการพองตัว
      4. นำส่วนผสมที่พักทิ้งไว้ 1 คืน มากวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
      5. เติมสีและกลิ่นตามความพึงพอใจอย่างละประมาณไม่เกิน 5 มิลลิลิตร
      6. ใส่ไตรเอทาโนลามีน ลงไปและกวนให้เข้ากัน จะได้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที หรือบรรจุในภาชนะปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ (เช่น หลอดพลาสติก) สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานกว่า 2 ปี

ข้อควรระวัง!
1. ห้ามใช้ “เมทิล แอลกอฮอล์” (Methyl alcohol) โดยเด็ดขาด เพราะอาจซึมเข้าสู่ผิวหนังและทำให้ตาบอดหรือมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แต่สามารถใช้ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) แทนได้ แต่จะมีกลิ่นเหม็นฉุนมากกว่า

Saturday, July 21, 2012

โรคมือเท้าปากเปื่อย Hand Foot Mouth Syndrome

โรคมือเท้าปากเปื่อย
Hand Foot Mouth Syndrome

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่มักจะเป็นในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ แต่ก็อาจจะพบในผู้ใหญ่ได้

โรคมือเท้าปากจะเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus genus
ซึ่งเชื้อโรคในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย polioviruses, coxsackieviruses, echoviruses, and enteroviruses.

สาเหตุ
โรคปากเท้าเปื่อยเกิดจาการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า  Enterovirus genus โดยต้องประกอบด้วยผื่นที่ มือ เท้าและที่ปาก เริ่มต้นเป็นที่ปาก เหงือก เพดาน ลิ้น และลามมาที่มือ เท้า บริเวณที่พันผ้าอ้อมเช่นก้น ผื่นจะเป็นตุ่มน้ำใส มีแผลไม่มาก เกิดได้กับเด็กอายุที่เริ่มเป็นคือ 2 สัปดาห์จนถึง 3 ปี และผื่นจะหายใน 5-7 วัน

อาการ
อาการมักจะเริ่มด้วยการมีไข้ เบื่ออาหาร ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ หลังจากมีไข้ 1-2 วันจะเห็นแผลแดงเล็กๆที่ปากโดยเป็นตุ่มน้ำในระยะแรก และแตกเป็นแผล ตำแหน่งของแผลมักจะอยู่ที่เพดานปาก หลังจากนั้นอีก 1-2 วันจะเกิดผื่นที่มือและเท้า แต่ก็อาจจะเกิดที่แขนและก้นได้ เด็กที่เจ็บปากมากอาจจะเกิดอาการขาดน้ำ

  • มีไข้
  • เจ็บคอ
  • มีตุ่มที่คอ ปาก เหงือก ลิ้นโดยมากเป็นตุ่มน้ำมากกว่าเป็นแผล
  • ปวดศีรษะ
  • ผื่นเป็นมากที่มือ รองลงมาพบที่เท้า บางรายอาจพบได้ที่ช่วงก้น
  • เบื่ออาหาร
  • เด็กจะหงุดหงิด


ระยะฝักตัว
หมายถึงระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการใช้เวลาประมาณ 4-6 วัน

การติดต่อ
โรคนี้มักจะติดต่อในสัปดาห์แรก เชื้อนี้ติดต่อจากการสัมผัสเสมหะ น้ำลายของผู้ที่ป่วย หรือน้ำจากผื่นที่มือหรือเท้า และอุจจาระ ระยะที่แพร่เชื้อประมาณอาทิตย์แรกของการเจ็บป่วย เชื้อนั้นอาจจะอยู่ในร่างกายได้เป็นสัปดาห์หลังจากอาการดีขึ้้นแล้ว ซึ่งยังสามารถติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้แม้ว่าจะหายแล้ว

การวินิจฉัย
โดยการตรวจร่างกายพบผื่นบริเวณดังกล่าว

การรักษา
ไม่มีการรักษาเฉพาะทาง โดยส่วนมากมักจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น

  • ถ้ามีไข้ให้ยา Paracetamol (พาราเซตามอล) ลดไข้ห้ามให้ Aspirin (แอสไพริน)
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ โดยใช้เกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ ต่อ น้ำ 1 แก้ว และต้องมั่นใจว่าเด็กบ้วนคอได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • งดอาหารเผ็ด หรืออาหารเป็นกรด
  • โรคนี้จะหายเองได้ใน 5-7 วัน
โรคแทรกซ้อน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ coxsackievirus A16 ซึ่งหายเองใน 1 สัปดาห์ แต่หากเกิดจากเชื้อ enterovirus 71 โรคจะรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนได้จาก

  • ภาวะขาดน้ำ ต้องกระตุ้นเด็กให้รับน้ำให้เพียงพอ หากขาดน้ำรุนแรงจะต้องได้รับน้ำเกลือในปริมาณที่พอเหมาะ
  • มีการติดเชื้อซ้ำบริเวณที่เป็นแผล
  • อาจจะเกิดชักเนื่องจากไข้สูง ต้องเช็ดตัวเวลามีไข้และรับประทานยาลดไข้
  • อาจจะเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • สมองอักเสบได้ ผู้ป่วยจะเกิดอาการ อาเจียน ซึม และชัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหาย


การป้องกัน
โรคมือเท้าปากจะติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย รวมทั้งน้ำจากตุ่ม และอุจจาระ การลดความเสี่ยงของการติดต่อทำได้โดย

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนๆหรือสบู่เหลวและล้างออกด้วยน้ำทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับเด็กที่ป่วย
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย สวมถุงมือเมื่อจะทำแผลผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก
  • ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่มีการจับบ่อย เช่นลูกบิดประตู โทรศัพท์
  • ไม่แบ่งของเล่นกับเด็กปกติ


ควรพบแพทย์เมื่อไร

  • ไข้สูงรับประทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลง
  • ดื่มน้ำไม่ได้และมีอาการขาดน้ำ ผิวแห้ง ปัสสาวะสีเข้ม
  • เด็กมีอาการกระสับกระส่าย
  • มีอาการชัก
  • แผลไม่หาย



ที่มา: http://www.siamhealth.net

Tuesday, April 3, 2012

ใกล้จะสงกรานต์กันแล้วสิ เลยเอาเรื่องของ "น้ำ" มาให้อ่านกันครับ


น้ำ : พิธีกรรมและความเชื่อ

             “น้ำ” ตามหลักวิทยาศาสตร์  คือ สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจน 2 อะตอม ต่อออกซิเจน 1 อะตอม 
เป็นของเหลวบริสุทธิ์ ใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส  โบราณถือเป็น ๑ ใน ๔ ธาตุคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ   ทางภูมิศาสตร์โลกมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง ๒ ใน ๓ ส่วน  แม้แต่ในร่างกายของคนเราก็มีน้ำเป็นสิ่งหล่อหลอมชีวิตที่สำคัญยิ่ง 
น้ำ เป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรกและมลทิน ถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อมีน้ำการเพาะปลูกต่างๆก็ได้ผล  เป็นที่สังเกตว่านับแต่โบราณกาลมาแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองล้วนอยู่มีบ่อเกิดอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำทั้งสิ้น  ด้วยเหตุนี้  “น้ำ” จึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆทั้งพิธีมงคลและอวมงคล   โดยเฉพาะการอาบน้ำในพิธีก็มีกันในหลายชาติหลายภาษา   พระยาอนุมานราชธน  นักปราชญ์สำคัญของบ้านเรา ได้กล่าวถึงการ “อาบน้ำ”ว่าหากจะแปลกันตรงๆก็คือ การชำระมลทินของร่างกายด้วยน้ำ  ซึ่งการอาบน้ำในพิธีของชาวไทยแต่ก่อน มีด้วยกัน ๔ กาละคือ   
            
            ๑.อาบเมื่อปลงผมไฟ เพื่อล้างผมโกนที่ติดตัว
            ๒.อาบเมื่อโกนจุก เพื่อล้างผมที่ติดตัวเช่นกัน
            ๓.อาบเมื่อแต่งงานสมรส เพื่อทำตัวให้สะอาดเตรียมเข้าหอ
            ๔.อาบเมื่อตาย เพื่อทำศพให้สะอาด เตรียมขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

            ซึ่งส่วนใหญ่ ท่านว่าการอาบน้ำดังกล่าวจะมีญาติมิตรมาช่วยรดน้ำอาบน้ำให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ  ยกเว้นโกนผมไฟ เพราะเด็กยังอ่อนอาบมากไม่ได้  และการช่วยอาบน้ำที่ว่าก็เลยลามไปถึงกาลปกติอย่างในฤดูร้อนช่วงสงกรานต์ ที่ลูกหลานไปช่วยกันอาบน้ำให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย   พระสงฆ์องค์เจ้า และสาดน้ำกันเอง ซึ่งนอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้ว คงจะมีนัยให้เกิดความสมบูรณ์ของฟ้าฝนเพื่อประโยชน์ในการทำไร่ไถนาด้วย  และได้กลายมาเป็นพิธีประจำปีขึ้นมา การอาบน้ำเมื่อแรกๆก็คงจะอาบแบบทั้งตัว  แต่ครั้นภายหลังคงเห็นเป็นเรื่องเอิกเกริกยุ่งยาก จึงย่นย่อลงเพียงการพรมที่หัว  รดตัว และรดมือพอควรแก่เหตุ เสมือนว่าได้รดน้ำอาบน้ำให้แล้ว 
            คนเราโดยทั่วไป แม้จะไม่ได้ทำพิธีใดๆ ก็ต้องอาบน้ำอาบท่าชำระร่างกายให้สะอาดเป็นปกติอยู่แล้ว  และเมื่อทำพิธีก็ยิ่งต้องทำร่างกายให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ดังเช่นลัทธิพราหมณ์ ก่อนจะเริ่มพิธีใดก็ต้องมีพิธีสนาน คืออาบน้ำเสียก่อนเพื่อให้เข้าพิธีด้วยความบริสุทธิ์ ประเพณีของเราเองไม่ว่าจะเป็นการบวชนาค ที่ต้องมีการอาบน้ำนาคก่อนบวชในวันรุ่งขึ้น  หรือพิธีแต่งงานที่สมัยก่อนมีการซัดน้ำจนเปียกปอนจริงๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรดมือพอเป็นพิธีเท่านั้น  ท่านว่าก็ล้วนเป็นการทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ เป็นการล้างมลทินเพื่อเตรียมเข้าพิธีต่างๆทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการรดน้ำ  สรงน้ำ หรืออาบน้ำวันสงกรานต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินหรือสิ่งไม่ดีไม่งามออกจากตัวเราเพื่อให้มีความบริสุทธิ์รับปีใหม่ที่จะมาถึงนั่นเอง
            จากที่กล่าวมาแล้วว่า “น้ำ” เป็นเครื่องชำระล้างมลทินและยังเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ  ทำให้สัญลักษณ์และความเชื่อเกี่ยวกับน้ำจึงมีปรากฏอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเราจะเห็น น้ำ เกี่ยวข้องกับเราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรม ประเพณี  การละเล่นทางน้ำ  ประติมากรรม  งานช่างฝีมือต่างๆ  เป็นต้น
            สำหรับสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ ได้แก่พญานาค และมังกร อันเป็นคติความเชื่อทางแถบเอเซีย  เช่น ไทย  ลาว เขมร  และจีน  เป็นต้น  มีตำนานกล่าวว่าราชวงศ์เซียของจีนเกิดจากการเลื้อยพันกันระหว่างมังกรตัวผู้และตัวเมีย ดังนั้นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินจีนจึงเป็นมังกร   ส่วนคำว่า “นาค”ภาษาสันสฤตแปลว่า  “งู” ในทางพุทธศาสนา เราอาจจะคุ้นเคยกับพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเป็นพระประจำวันเสาร์  นั่นคือ พญานาคมุจลินทร์ที่แผ่เบี้ยปกคลุมเศียรพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับสมาธิอยู่บนขนดนั้น  และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะตรัสรู้ พระแม่ธรณีก็มาบีบมวยผมปล่อยน้ำมาท่วมเหล่าพญามารที่มาผจญพระพุทธองค์จนหมดสิ้นไป  นอกจากยังมีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพญานาคได้กลืนกินน้ำจนแห้งไปหมดทั้งโลก แล้วไปขดตัวนอนหลับกลายเป็นเมฆอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ร้อนถึงพระอินทร์ที่ต้องใช้สายฟ้าฟาดกลางขนดพญานาคจนขาดเป็นท่อนๆ เพื่อให้มีน้ำไหลออกมาหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์
            พิธีกรรมสำคัญๆที่ต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบก็มีหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องมีการอัญเชิญน้ำมูรธาภิเษก (น้ำที่จะใช้รดพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน)ที่จะสรง  จากสถานที่ต่างๆอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในราชอาณาจักรมาทำพิธี  ซึ่งเมื่อทรงสรงด้วยน้ำนี้แล้ว ก็ถือว่าได้แปรสภาพองค์เข้าสู่ความเป็นกษัตริย์เป็นขั้นแรก ก่อนจะมีพิธีอื่นๆต่อไป การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งในสมัยก่อนที่จะป้องกันข้าราชการมิให้ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยทำพิธีในวัดพระแก้ว ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ โดยให้ข้าราชการถวายสัตย์สาบาน ด้วยการดื่มน้ำที่ผ่านการปลุกเสกจากการที่พระมหาราชครูชุบพระแสง ๓ องค์ลงในน้ำแล้วอ่านโองการแช่งไว้
            นอกจากนี้ยังมีพิธีที่เกี่ยวกับน้ำในทางเกษตรกรรม  ที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงทำหน้าที่เหมือนพระอินทร์มาปราบนาคดังตำนานข้างต้น  อย่าง  พระราชพิธีไล่เรือ และพระราชพิธีไล่น้ำ จะทำต่อเมื่อปีไหนน้ำหลากท่วมไร่นามากเกินไป  พระมหากษัตริย์พร้อมพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอและพระสนมก็จะแต่งองค์เต็มยศลงเรือพระที่นั่ง เสด็จออกไปประทับยืนทรงพัชนีบังคับให้น้ำลด  ซึ่งพระราชพิธีดังกล่าวนี้เคยทำในสมัยรัชกาลที่ ๑ ครั้งหนึ่ง และรัชกาลที่ ๓อีกครั้งหนึ่ง แต่หากปีไหนฝนแล้ง ก็เป็นพระราชภาระที่ต้องทำพิธีที่เรียกว่า พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อขอฝนอีกเช่นกัน  ส่วนพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นความอลังการของขบวนเรือที่งดงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางด้านประติมากรรมที่ปรากฏบนเรือสำคัญๆแต่ละลำด้วย
            ในส่วนของชาวบ้านชาวเมือง เราก็มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำหลายประเพณี เช่น  ประเพณีสงกรานต์  ลอยกระทง   งานบุญบั้งไฟ หรือแห่นางแมวเพื่อขอฝน  รวมไปถึงการละเล่นทางน้ำต่างๆ อาทิ การพายเรือเล่นสักวา  การแข่งเรือ  หรือแม้แต่เทศกาลชักพระ   โยนบัว  ที่เป็นงานประจำปีที่สำคัญของบางจังหวัด
            อนึ่ง  ในตำนานสร้างเมืองทั้งของไทยและเขมรก็มีนิยายเล่าต่อๆกันมาว่า ที่มีบ้านเมืองขึ้นมาได้เพราะเจ้าครองนครคนแรกซึ่งมีนามว่า พระทอง ได้อภิเษกสมรสกับธิดาพญานาค ทำให้พญานาคกลืนน้ำซึ่งท่วมดินแดนนั้นอยู่จนแผ่นดินแห้งกลายเป็นประเทศขึ้นมา ชื่อว่า “กัมพูชา”  และเรื่องนี้ยังได้ถ่ายทอดต่อมาในรูปแบบวรรณกรรม นาฏศิลป์และศิลปกรรม แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และนาค อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำด้วย
             ที่ว่ามาข้างต้นคือ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ “น้ำ” ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ”น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย”ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ มาเสนอเพื่อเป็นความรู้   ซึ่งนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว “น้ำ” โดยตัวมันเองในสถานะของเหลวอันไปรวมกับสิ่งอื่นๆก็มีทั้งคุณและโทษไม่น้อย เช่น น้ำกรด  น้ำเมา  น้ำจัณฑ์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อสิ่งของและร่างกายหากดื่มเข้าไป   ในขณะที่น้ำเกลือ น้ำนม   น้ำกระสาย น้ำมนต์   กลับช่วยรักษาทั้งร่างกายและจิตใจได้ เป็นต้น  กล่าวได้ว่า “น้ำ” มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ อย่างไรก็ตาม “น้ำ” ในปัจจุบัน  ที่จะทำให้บ้านเมืองและสังคมเกิดความสงบสุข น่าจะเป็น “น้ำคำ” ที่หมายถึง การพูดดี  พูดมีประโยชน์และถูกต้องตามกาละเทศะ  รวมไปถึง “น้ำใจ” ที่พร้อมจะช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกันมากกว่าอย่างอื่น